Thursday, June 23, 2016

แนะแนวการศึกษาต่อ



คณะอักษรศาสตร์/ศิลปศาสตร์/คณะมนุษยศาสตร์ 
เป็นศาสตร์ที่ว่าด้วยการเสริมสร้างและพัฒนาจิตใจประชากรโดยส่วนรวม
กล่าวคือ พยายามทำให้เข้าใจตนเอง ผู้อื่น สังคม และสภาพแวดล้อม รู้ซึ้งถึงคุณค่าของคุณธรรม จริยธรรม และวัฒนธรรม มีจิตใจละเอียดอ่อนมีวิจารณญาณ มีสติปัญญาแตกฉานและรสนิยม รู้จักใช้ความรู้และสติปัญญาให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันคนทั่วไปมักมองเห็นว่าวิชาอักษรศาสตร์ฯ มีความสำคัญด้อยกว่าวิชาการด้านอื่น ๆ
แท้จริงแล้ววิชานี้มีความสำคัญมาก แต่มองเห็นได้ยาก
เพราะมีคุณค่าและลักษณะเป็นนามธรรม วิชาต่าง ๆ ที่อยู่ในสาขาวิชาอักษรศาสตร์ฯ มีเนื้อหาเกี่ยวกับแนวความคิดและพฤติกรรมทางสังคมทั้งในอดีตและปัจจุบัน ความรู้ซึ้งในเรื่องเหล่านี้จะเป็นทั้งพื้นฐานและประสบการณ์ที่จะช่วยให้มนุษยืเรียนรู้ที่จะดำรงชีวิตอย่างมีคุณค่าได้
ซึ่งพอจะแบ่งสาขาการเรียนออกได้ดังนี้ 

สาขาวิชาประวัติศาสตร์ ศึกษาประวิติศาสตร์ไทยและประวัติศาสตร์ของ
ภูมิภาคต่าง ๆ ตลอดจนวิธีค้นคว้าวิจัยทางประวัติศาสตร์
สาขาวิชาภูมิศาสตร์ ศึกษาเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทั้งทางด้านธรรมชาติ เศรษฐกิจ สังคม และความเป็นอยู่ของมนุษย์ ตลอดจนเทคนิคในทางภูมิศาสตร์ และการทำแผนที่ 
สาขาวิชาสารสนเทศศึกษา ศึกษาในด้านทฤษฎีและปฏิบัติทาง
บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ 
สาขาวิชาปรัชญา ศึกษาเกี่ยวกับความเป็นมา หลักการ แนวคิด และผลกระทบของปรัชญาต่าง ๆ สาขาวิชาศิลปการละคร ศึกษาเกี่ยวกับการละครในด้านเวที ภาพยนตร์ โทรทัศน์ วิทยุ ทั้งในทางทฤษฎีและทางปฏิบัติ ตลอดจนประวัติและวรรณคดีของการละคร สาขาวิชาภาษาไทย ศึกษาเกี่ยวกับภาษาไทยและวรรณคดี โดยผู้ศึกษาจะเลือกเน้นหนักอย่างใดอย่างหนึ่งหรือทั้งสองอย่างก็ได้ สาขาวิชาภาษาบาลี และสันสกฤต ศึกษาเกี่ยวกับโครงสร้างและรายละเอียดของภาษาบาลี และสันสกฤต เพื่อยกมาประกอบการศึกษาคำไทย ทั้งที่ใช้อยู่ในวรรณคดี และที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน อีกทั้งศึกษาโครงสร้างคำบาลีและสันสกฤต เพื่อจะได้บัญญัติศัพท์ใหม่ขึ้นใช้ในภาษาไทยได้ตลอดจนศึกษาวรรณคดี และวัฒนธรรมที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีภาษาสันสกฤต เพื่อจะได้เปรียบเทียบกับวัฒนธรรมและประเพณีไทยได้
      นอกจากนี้ยังมี
สาขาวิชาภาษาต่างประเทศให้เลือกศึกษาอีกมากมาย อาทิ สาขาวิชาภาษาอังกฤษ สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น สาขาวิชาภาษาฝรั่งเศส สาขาวิชาภาษาเยอรมัน สาขาวิชาภาษาสปน สาขาวิชาภาษาอิตาเลียน สาขาวิชาจีนกลาง ซึ่งการเรียนสาขาภาษาต่างประเทศแต่ละสาขานั้นจะศึกษาเกี่ยวกับการใช้ภาษาในด้านการฟัง การพูด การอ่าน การเขียน การแปล ตลอดจนศึกษาวรรณคดี และศิลปวัฒนธรรมของประเทศนั้น ๆ                           
คุณสมบัติของผู้เข้าศึกษา 
ผู้ที่จะเข้าศึกษาในคณะนี้ควรมีคุณสมบัติในด้านอารมณ์ ความคิด และแนวโน้มที่เหมาะสมกับลักษณะวิชา มีความรัก ความสนใจ ความสนใจในภาษา ชอบการอ่าน การเขียนและการค้นขว้า การศึกษาในคณะนี้มุ่งที่จะพัฒนาความคิดและปัญญามากกว่าจะเป็นวิชาที่จะเตรียมตัวไปสำหรับการประกอบอาชีพใดอาชีพหนึ่งโดยตรง 
                         

แนวทางในการประกอบอาชีพ 
บัณฑิตส่วนใหญ่จะมีความรู้ภาษาต่างประเทศในระดับที่ใช้งานได้ดี ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่มีความรู้ภาษาต่างประเทศถึง 2 ภาษา ทำให้สามารถทำหน้าที่เกี่ยวกับการใช้ภาษาต่างประเทศในวงราชการ วงการธุรกิจ วงการบันเทิง และงานด้านเอกสารต่าง ๆได้ดี เช่น เป็นอาจารย์และนักวิชาการ ผู้บริหารสถานศึกษา นักวิจัยเลขานุการ เจ้าหน้าที่สารนิเทศ เจ้าหน้าที่ต้อนรับในบริษัทการบิน มัคคุเทศก์ ล่าม นักแปล พนักงานธนาคาร และสถาบันการเงิน นักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการ และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ นักโฆษณา นักประชาสัมพันธ์ เจ้าหน้าที่งานแผนที่และผังเมือง นักแสดง บรรณารักษ์ และประกอบอาชีพส่วนตัว เป็นต้น

No comments:

Post a Comment